Search

"เราไปเที่ยวด้วยกัน" แป้ก ศบศ. เพิ่มสิทธิ์ค่าห้องพัก 5 คืน ค่าเครื่องบิน 2 พันบาท - ประชาชาติธุรกิจ

berlin-tours.blogspot.com
หวั่น
“เราไปเที่ยวด้วยกัน” แป้ก ศบศ. เพิ่มสิทธิ์ค่าห้องพัก 5 คืน ค่าเครื่องบิน 2 พันบาท ปรับแผน แพ็กเกจท่องเที่ยว ดึง บจ. กระตุ้นท่องเที่ยว ชง ครม.สัญจร ระยอง จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 4 แสนคน ปัด เบรกม็อบ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ. แถลงผลการประชุม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำเป้าหมาย 3 ข้อ 1.การจ้างงาน 2.การสนับสนุนภาคธุรกิจจริงให้อยู่รอดได้ และ 3.การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยที่ประชุม ศบศ. มีมติเห็นชอบทบทวนหลักเกณฑ์โครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน จากเดิม 5 ล้านคืน ซึ่งปัจจุบันใช้ไปแล้ว 550,000 คืน โดยขยายการใช้สิทธิ์จากเดิมผู้สามารถใช้สิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดา เพิ่มเติมให้นิติบุคคล หรือ บริษัทเอกชนสามารถใช้สิทธิ์สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐค่าห้องพัก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยไปเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังขยายจำนวนสิทธิ์สำหรับผู้ใช้สิทธิ์ไปแล้วจากเดิม 5 สิทธิ์ หรือ 5 คืนต่อ 1 คน เป็น 10 สิทธิ์ หรือ 10 คืนต่อ 1 คน หมายถึงใช้สิทธิ์เพิ่มได้อีก 5 คืน ขณะที่มาตรการช่วยเหลือสายการบิน เดิม 1,000 บาท เพิ่มเป็น 2,000 บาท คาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดระยองในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563

นายสมิทธิ์ กล่าวว่า การจ้างงาน ศบศ.ได้กำชับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า ปัจจุบันนี้การเข้าถึงข้อมูลของความต้องการจ้างงานยังไม่เป็นการรวมศูนย์เท่าที่ควร จึงขอให้มีการทำเป็นแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เพื่อให้คนว่างงานไปหางานได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้ใช้ big data และรวมศูนย์ข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกบริษัท ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนกลับไปยังภูมิลำเนา ขณะเดียวกันเป็นการลดการใช้แรงงานต่างด้าวด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ศบศ.เห็นชอบกรอบหลักการ 4 เรื่อง ได้แก่ 1 มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว 2.มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน และ 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับการขยายกรอบมาตรการการท่องเที่ยว โดยดึงภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ให้มาใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ เพื่อนำพนักงานของบริษัทไปท่องเที่ยว เช่น การจัดสัมมนา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางไกล เพราะฉะนั้น การปรับปรุงมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวมากขึ้น และในระยะทางที่ไกลขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอ ศบศ. และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบต่อไป เช่น การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้ เป็นมาตรการรูปแบบร่วมจ่าย (Co-pay) ไม่เกินร้อยละ 40 ของค่าห้องพัก ส่วนมาตรการทางภาษีอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่อยู่ในการรออนุมัติครั้งนี้

นายดนุชา กล่าวว่า การดึงภาคเอกชนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยว อยู่บนหลักการว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องช่วยกัน รัฐบาลทำฝั่งเดียวไม่ได้ หรือ จะดึงประชาชนให้มาเที่ยวอย่างเดียวก็ไม่ได้ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีกำลังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศครั้งนี้ได้

“มาตรการที่อยู่ระหว่างทำรายละเอียด คือ ให้บริษัทเอกชนมากระตุ้นตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นอีกมาตรการที่จะออกมาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน เช่น การมี Point หรือ มาตรการภาษี แต่ยังไม่ชัดเจน ขอไปทำรายละเอียดก่อนว่า จะมีมาตรการจูงใจอย่างไรให้บริษัทเอกชนเข้ามา โดยรัฐจะจัดทำแพลตฟอร์มให้เอกชนเข้ามา”

ทั้งนี้ มาตรการจ้างงานและมาตรการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดบริษัทเอกชนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกลับไปจัดทำรายละเอียดและรีบนำมาเสนอ ศบศ. ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับมาตรการจ้างงานจะเน้นการจ้างงานบัณฑิตใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก โดยกระทรวงแรงงานจะกลับไปทำรายละเอียดและรายงานต่อ ศบศ. พิจารณาอีกครั้ง โดยตัวเลขคนว่างงาน ขณะนี้มีจำนวน 800,000 คน แบ่งออกเป็น บัณฑิตจบใหม่ 400,000 คน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวน 400,000 คน และกลุ่มเสี่ยง หรือ ผู้ประกอบการยังจ่ายเงินค่าจ้างให้ร้อยละ 75 จำนวน 1.7 ล้านคน โดยกระทรวงแรงงานได้รวบรวมตำแหน่งงานเบื้องต้น 6-7 แสนตำแหน่ง โดยจะมีการจัดงาน Job Expo เพื่อกระตุ้นให้มีการจ้างงานมากขึ้น ขณะนี้การจ้างงานภายใต้แผนงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 9.7 หมื่นตำแหน่ง

“การจ้างงานที่เน้นการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ก่อน ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาขณะนี้ เราไม่ได้ให้ความสำคัญใครมากกว่ากัน เพียงแต่บัณฑิตจบใหม่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นเด็กพวกนี้จะเป็นความหวังของครอบครัวเหมือนกัน ขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาตกงาน หรือ จ้างงานอยู่แล้ว รัฐจะเข้าไปช่วยแน่นอนคู่กัน”

นายดนุชา กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ว่า ยังต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมบ้าง แต่จะไม่ใช้ในรูปแบบของการแจกเงิน แต่จะเป็นการร่วมจ่ายแทน

“มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหลักการของการกระตุ้นครั้งนี้ ต้องลงไปให้ถึงผู้ประกอบการที่ระดับ Micro จริง ๆ เช่น แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ต้องได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาจะไปอยู่ในส่วนของร้านอาหาร ดังนั้น ถ้าจะมีการกระตุ้นค่าใช้จ่ายในระยะถัดไปต้องให้คนตัวเล็กในสังคม เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ให้ได้มากที่สุด”




August 19, 2020 at 07:26PM
https://ift.tt/2YdgaLe

"เราไปเที่ยวด้วยกัน" แป้ก ศบศ. เพิ่มสิทธิ์ค่าห้องพัก 5 คืน ค่าเครื่องบิน 2 พันบาท - ประชาชาติธุรกิจ

https://ift.tt/2VxIbuS


Bagikan Berita Ini

0 Response to ""เราไปเที่ยวด้วยกัน" แป้ก ศบศ. เพิ่มสิทธิ์ค่าห้องพัก 5 คืน ค่าเครื่องบิน 2 พันบาท - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.