การท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโร ได้รับผลกระทบอย่างไรในช่วงโควิด-19
หมู่เกาะแฟโรที่ถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ห่างไกลจากเพื่อนบ้านหลายร้อยกิโลเมตร ผู้คนที่นี่เลี้ยงดูชีวิตด้วยการหาปลา 90% ของสินค้าส่งออกของที่นี่คือปลา แต่ไวรัสโคโรนากำลังส่งผลกระทบต่อความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวของที่นี่
การขับรถไปยังหมู่บ้านกลิฟราร์ (Glyvrar) ไม่ใช่เรื่องง่าย ถนนที่ออกมาจากสนามบินทอดผ่านภูเขาหลายลูกและฟยอร์ดหลายแห่ง นอกจากนี้ต้องลอดอุโมงค์ต่าง ๆ ที่ตัดทะลุเนินเขา และมุดลงใต้ทะเลด้วย
หมู่บ้านกลิฟราร์ (Glyvrar) เป็นที่ตั้งของบริษัทบักกาฟรอสต์ (Bakkafrost) ที่ทำฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอน และเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแฟโร
โรงงานที่ทันสมัยของบริษัทแปรรูปแซลมอนได้เกือบ 60,000 ตันต่อปี
การดำเนินงานส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร สายพานลำเลียงปลาผ่านเครื่องจักรหลายประเภทจนกระทั่งปลาถูกบรรจุหีบห่อ จากนั้นแขนกลจะแยกประเภทกล่องเพื่อเตรียมส่งขึ้นเรือ
บริษัทบักกาฟรอสต์ (Bakkafrost) มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่เพาะเลี้ยงลูกปลาแซลมอนไปจนถึงโรงงานทำอาหารปลา แม้แต่กล่องโฟมใยสังเคราะห์ติดตรายี่ห้อ ทางบริษัทก็ผลิตขึ้นเอง เป็นลักษณะของการพึ่งพาตัวเองของชาวเกาะแฟโร
"เราเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่นี่ในช่วงต้นทศวรรษ 80" เรจิน เจคอบเซน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว "เราเห็นว่า การตั้งอยู่กลางแอตแลนติกเหนือ ทั้งเรื่องวัสดุในการผลิตและการขนส่งเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เราออกสู่ตลาดเป็นเรื่องค่อนข้างยาก"
แต่นั่นก็เป็นโอกาสเช่นกัน เขากล่าวว่า "[เราสามารถ] สร้างความแตกต่างให้ตัวเอง... และสร้างคุณค่าให้สูงขึ้น"
การทำฟาร์มปลาแซลมอนจากมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกจาก 1.4 ล้านตัน เป็น 2.6 ล้านตัน ในเวลา 10 ปี นอร์เวย์และชิลี เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แต่ปลาแซลมอนจากหมู่เกาะแฟโรตั้งราคาได้สูงกว่ามาก
หมู่เกาะแฟโร ตั้งอยู่ห่างจากสกอตแลนด์ไปทางเหนือราว 320 กม. และเป็นเขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก มีเกาะหลัก 18 เกาะ และมีประชากรเพียง 52,000 คน
ปลาแซลมอนของที่นี่ปกติจะมีราคาขายสูงกว่าราคาเฉลี่ยในตลาด 10% เพราะหลายปัจจัย รวมถึงคุณภาพของอาหารปลา มาตรฐานการทำฟาร์มขั้นสูง ความยั่งยืนและการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
นายเจคอบเซนบอกว่า เมื่อ 15 ปีก่อน แซลมอนส่วนใหญ่ของประเทศถูกส่งออกไปที่สหภาพยุโรป แต่ทุกวันนี้ ถูกส่งไปขายทั่วโลก
รัสเซียและสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ในปี 2014 รัสเซียห้ามนำเข้าอาหารจากสหภาพยุโรป เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรกรณียูเครน อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะแฟโร ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ต่างจากเดนมาร์ก ทำให้การส่งออกไปรัสเซียเพิ่มขึ้น
นายเจคอบเซนกล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดขายเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้จากความนิยมรับประทานซูชิปลาแซลมอนเพิ่มมากขึ้น และกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
แต่ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก หมู่เกาะแฟโรเองก็หนีไม่พ้น
การส่งออกรวมของหมู่เกาะแฟโรลดลง 7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยยอดขายจากจีน ลดลงอย่างฮวบฮาบ 65% เพราะรัฐบาลจีนห้ามนำเข้าอาหารหลายชนิดชั่วคราว
"ตลาดจีนกลายเป็นตลาดสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ" นายเจคอบเซนกล่าว "สำหรับบักกาฟรอสต์ (Bakkafrost) มันยิ่งมีความสำคัญมาก ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 20% ของยอดขายเรามาจากจีน"
ในทางกลับกัน มาตรการล็อกดาวน์ของหลายที่ก็ช่วยกระตุ้นธุรกิจ
"เราเติบโตดีทั้งในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป" นายเจคอบเซนกล่าว "ซูเปอร์มาร์เก็ต ขายของได้มากกว่าช่วงปกติ เพราะผู้คนกินข้าวที่บ้านมากขึ้น"
การปกป้องประชากรและเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา หมู่เกาะแฟโรได้ใช้มาตรการกักตัว และการแกะรอยติดตามผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น ทำให้หมู่เกาะแฟโรเป็นหนึ่งในที่ที่มีอัตราการทดสอบหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงที่สุดในโลก ทุกคนจะต้องถูกตรวจหาเชื้อเมื่อเดินเทางเข้ามา
ความพร้อมนี้ส่วนหนึ่งมาจากการประมงของที่นี่ ห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ซึ่งถูกตั้งขึ้นมานานหลายปีแล้ว เพื่อเฝ้าระวังโรคภัยต่าง ๆ ได้ถูกนำมาดัดแปลงในช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อพร้อมใช้ทดสอบหาเชื้อโรคโควิด-19 ในมนุษย์
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ดินแดนหมู่เกาะแฟโรไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เลยแม้แต่คนเดียว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันเพียง 227 คนเท่านั้น
...........................
คุณอาจสนใจ:
..........................
เฮรี อา โรกวี (Heri a Rogvi) ประธานสภาเศรษฐกิจหมู่เกาะแฟโร คิดว่าการที่เศรษฐกิจของหมู่เกาะแฟโรอยู่ในสภาพดี ทำให้หมู่เกาะแฟโรมีความได้เปรียบในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา
"ไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเล็กน้อย" นายโรกวีกล่าว
"ตอนนี้เรามีอัตราการว่างงานที่ 1.7% ซึ่งต่ำมาก ผมคิดว่า เราน่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในยุโรป"
เศรษฐกิจของหมู่เกาะแฟโรพัฒนาขึ้นมาก นำโดยภาคอุตสาหกรรมปลา ซึ่งคิดเป็น 20% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมด สถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากรอยู่ที่ 58,950 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 (ประมาณ 1.82 ล้านบาท) ตัวเลขนี้เกือบจะสูงเท่าสหรัฐฯ (59,958 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.85 ล้านบาท) และมากกว่าทั้งสหราชอาณาจักร (40,361 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.24 ล้านบาท) และฝรั่งเศส (40,109 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.23 ล้านบาท)
หมู่เกาะแฟโรยังได้รับเงินสนับสนุนประจำปีจากเดนมาร์กอีกราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ในช่วงไม่กี่ปีนี้หมู่เกาะแฟโรได้หันมาดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากในปีนี้เนื่องจากโควิด-19
"นี่คือทัวร์เดียวที่เรามีวันนี้ มีคน 14 คนบนเรือ" กันนาร์ สกูวาดาล กล่าว ขณะที่เขากำลังควบคุมเรือยนต์ เข้าไปยังหน้าผานกทะเล ใกล้กับเมืองเวสตามานนา (Vestamanna) ปกติเขาจะจัดนำเที่ยวตั้งแต่เดือนเม.ย. แต่ปีนี้หมู่เกาะแฟโรเพิ่งเปิดพรมแดนให้คนเข้าช่วงกลางเดือน มิ.ย.
"ในวันปกติในเดือน มิ.ย. เราน่าจะมี 3 ทัวร์ คนเต็มลำเรือ หรือประมาณทัวร์ละ 40 คน"
ชาวเยอรมัน ชาวเดนมาร์ก และคนจากหมู่เกาะแฟโรที่เที่ยวภายในประเทศ อยู่ในกลุ่มผู้โดยสารเรือ พวกเขาพากันถ่ายภาพถ้ำและนกพัฟฟินที่กำลังทำรัง
"ถ้าผมผ่านช่วงหน้าร้อนนี้ไปได้โดยไม่ติดลบ [ขาดทุน] ผมคิดว่าก็น่าพอใจแล้ว" นายสกูวาดาลกล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีนี้ การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาก มีคนเดินทางมาเยือนมากเป็นประวัติการณ์ การทำการตลาดแบบไวรัลอย่าง กูเกิลชีปวิว (Google Sheepview คือการนำกล้องไปติดไว้บนตัวแกะ) และโครงการ "ปิดเกาะเพื่อบูรณะ" ในปี 2019 ทำให้หมู่เกาะแฟโรกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว
ปีที่แล้วมีคนเดินทางมาเยือน 130,000 คน เส้นทางบินใหม่จากนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และกรุงลอนดอนของอังกฤษ มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปีนี้
"ปีนี้เราน่าจะมีคนมาเยือนแค่ 20-30% จากจำนวนที่เราน่าจะมีในปี 2020" กูดริด โฮจ์การ์ด (Gudrid Hoejgaard) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโร กล่าว "ปีนี้จึงเป็นปีที่แย่มาก แต่ฉันว่าปี 2021 จะดีขึ้น"
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า "การท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กของที่นี่ [2% ของเศรษฐกิจ] แต่มันช่วยขยายตลาดแรงงาน ช่วยสร้างงานในภาคบริการและงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์"
หลายฝ่ายหวังว่าการเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจของหมู่เกาะแฟโร จะช่วยสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่ที่หมู่เกาะแฟโรแทนที่จะย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้มีคนอพยพออกไปหลายพันคน พอถึงช่วงต้นทศวรรษ 2000 การว่างงานก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมากอีกครั้ง จากเหตุโรคที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลาแซลมอน จนทำให้บริษัทแซลมอนส่วนใหญ่จากจำนวนหลายสิบแห่งต้องปิดกิจการ
"เรา [ยังคง] ค่อนข้างเสี่ยง แต่เทียบกับตอน 15-20 ปีก่อน เราแข็งแรงขึ้นมากในตอนนี้" นายโรกวีกล่าว
"ผมคิดว่าเราต้องพยายามต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี ในการทำให้คนหนุ่มสาวอยู่ที่นี่ต่อไป"
หลายคนเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมักจะไม่กลับมา แต่โอกาสด้านการศึกษาและการทำงานที่ดีขึ้น ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้
ขณะที่การอพยพเข้ามาสูงขึ้นประกอบกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่สูงที่สุดในยุโรป ทำให้ประชากรของหมู่เกาะแฟโรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 52,000 คน
"สำหรับเรา นั่นคือตัวเลขที่สูงอย่างมาก" นายโรกวีกล่าว
การถอดเสียงชื่อคนและสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องอาจมีความคลาดเคลื่อน
September 01, 2020 at 11:57PM
https://ift.tt/3lF0hax
การท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโร ได้รับผลกระทบอย่างไรในช่วงโควิด-19 - ข่าวสด
https://ift.tt/2VxIbuS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การท่องเที่ยวของหมู่เกาะแฟโร ได้รับผลกระทบอย่างไรในช่วงโควิด-19 - ข่าวสด"
Post a Comment