สัมภาษณ์
อาณาเขตอำเภอรอบปริมณฑลของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน แทบเป็นกลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจที่เป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยศักยภาพที่เชื่อมโยงกันในเชิงโครงสร้างพื้นฐานและการขยายตัวของธุรกิจประเภทต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยว “อำเภอหางดง” จัดอยู่ในกลุ่มเมืองปริมณฑลของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากกลายเป็นพื้นที่พักอาศัยโซนใต้ขนาดใหญ่ (residence area) รวมถึงการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติ ส่งผลให้อำเภอหางดงมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างคึกคักหนาแน่น ทั้งบ้านจัดสรร โรงแรม รีสอร์ต ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญรองจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ด้วยระยะทางห่างราว 10 กิโลเมตรเท่านั้น
ณ วันนี้ กล่าวได้ว่า “หางดง” เป็นอำเภอที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุนด้านที่พักอาศัย ภาคการศึกษา ส่วนความท้าทายของอำเภอหางดง คือ การบริหารจัดการเมือง การบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะกำหนดภาพของอำเภอนี้ในอนาคตให้กลมกลืนระหว่างเมืองเศรษฐกิจกับเมืองที่คงเสน่ห์มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม แหล่งหัตถกรรม แหล่งเกษตรกรรม และความเป็นธรรมชาติที่มีสิ่งแวดล้อมงดงาม “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมศักดิ์ คณาคำ” นายอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่จะมาให้มุมมองกับภาพของอำเภอหางดง และการบริหารจัดการเมืองในอนาคต
รุก “การค้า-เกษตร-คุณธรรม”
แม้เพิ่งย้ายมาทำหน้าที่นายอำเภอหางดงได้เพียง 3 เดือนเศษ แต่นายอำเภอหางดงคนใหม่ได้เร่งวางแผนงานการพัฒนาเมืองอย่างเข้มข้น โดยวางตำแหน่ง (position) สร้างหางดงให้เป็น 3 เมืองหลัก คือ 1.เมืองการค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยว 2.เมืองการเกษตร 3.เมืองแห่งคุณธรรม
สำหรับเมืองแรกนั้น “สมศักดิ์” บอกว่า เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่อำเภอหางดงได้กลายเป็นเมืองการค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ สะท้อนชัดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ของ GPP ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 100,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นพื้นที่การลงทุนโครงการบ้านจัดสรรแหล่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวครบทั้ง culture-nature-adventure มีโรงแรม รีสอร์ต คอมมิวนิตี้มอลล์
อาทิ กาดฝรั่ง วิลเลจ ซึ่งถือเป็น magnet หนึ่งของอำเภอหางดง ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินสูงสุดอยู่ที่ราว 10 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนราคาประเมินที่ดินทั่วไปเฉลี่ย 20,000 บาทต่อตารางวา แม้ราคาที่ดินค่อนข้างสูง แต่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ้านจัดสรร ด้วยเพราะเป็นทำเลที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ และการคมนาคมสะดวก
นอกจากนี้ สิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างและร่วมมือกับอีกหลาย ๆ ฝ่ายในชุมชนดำเนินการให้แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละโซนมีการเชื่อมโยงเป็น route เช่น โซนตะวันออก วางให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ เปิดเส้นทางชุมชน “เผ่าลัวะ” ต.ขุนคง ไหว้พระวัดละโว้ ต.หนองแก๋ว สร้างขึ้นยุคปลายสมัยพระแม่เจ้าจามเทวี อายุกว่า 400 ปี
ดูสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย นั่งร้านกาแฟสุดฮิต “จังเกิ้ล เดอ คาเฟ่ บ้านถวาย” และแวะช็อปปิ้งที่กาดฝรั่ง วิลเลจ ส่วนโซนตะวันตก มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวculture และ adventure ที่เชื่อมเป็น route เดียวกันได้ อาทิ วัดต้นเกว๋น ต.หนองควาย สนามมวย ต.หนองควาย แกรนด์แคนยอน ต.น้ำแพร่ บ้านกระต่ายแอดเวนเจอร์ ต.น้ำแพร่ ขากลับแวะเที่ยวชุมชนหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง เป็นต้น
“การฟื้นจุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่เพียบพร้อมทั้ง culture-nature-adventure โดยเน้นการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้เป็นการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยง ตอนนี้ได้สั่งการให้ท้องถิ่นจัดทำป้ายแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้ชัดเจน และทางอำเภอกำลังทำแอปพลิเคชั่นเส้นทางท่องเที่ยวของอำเภอหางดง เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหันมาสนใจอำเภอหางดงเพิ่มมากขึ้น”
ชู “ลำไย-อะโวคาโด” เพิ่มมูลค่า
เมืองที่สอง เมืองการเกษตร ถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง เพราะโดยพื้นฐานของอำเภอหางดงมีรากมาจากภาคการเกษตรเป็นต้นทุนดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันยังก่อรายได้และหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากได้อยู่ โดยมีผลผลิตที่เป็นหัวใจ คือ ลำไย และลำไยต้นแรกอยู่ที่บ้านน้ำโท้ง ต.สบแม่ข่าอ.หางดง โดยชาวจีนนำมาถวาย เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 และได้ถูกนำไปปลูกที่บ้านน้ำโท้ง จนมีการขยายพันธุ์ เป็นเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ที่จะนำมาเป็นจุดขาย ซึ่งจะทำควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยอินทรีย์ ที่จะนำไปสู่การสร้างแบรนด์ “ลำไยหางดง” ในระยะต่อไป
โดยขณะนี้ลำไยแปลงใหญ่ที่ตำบลหนองตอง 14 หมู่บ้าน มีพื้นที่ปลูกราว600-700 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการราว 155 ราย ได้เริ่มผลิตลำไยอินทรีย์และนำออกขายแล้วในปีนี้ ซึ่งคาดว่ามีเกษตรกรกว่า 100 ราย ที่ปรับเข้าสู่การผลิตลำไยอินทรีย์แล้ว ซึ่งลำไยในพื้นที่แปลงใหญ่แห่งนี้เป็นลำไยคุณภาพปลอดสารเคมี มีขนาดผล80-85 ลูกต่อกิโลกรัม โดยมีตลาดรองรับส่งให้กับห้างบิ๊กซีและโลตัส และวันที่ 14-21 สิงหาคม 2563 นี้ อำเภอหางดงจะมีการจัดงานเกษตรแฟร์ วันลำไยหางดง ครั้งที่ 1 บริเวณบ้านเหมืองกุง สี่แยกสะเมิง ซึ่งจะนำสินค้าเกษตรทุกอย่างของอำเภอหางดง มาจัดแสดงทั้งปศุสัตว์ พืชผลการเกษตร และจับคู่ธุรกิจ (business matching) ขายลำไย เป็นต้น
“พื้นที่ปลูกลำไยของอำเภอหางดงกว่า 14,025 ไร่ เป็นผลผลิตลำไยในฤดูในปีนี้ ประมาณ 7 พันตัน ขายผลสดราว 4 พันตัน และอีก 3 พันตันนำไปแปรรูป ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท มูลค่ารวม 140 ล้านบาท ส่วนลำไยนอกฤดูซึ่งทำตลอดปี ผลผลิตราว 5-7 พันตัน ราคาเฉลี่ย 40-50 บาท มูลค่าราว 200 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมรายได้ที่มาจากลำไยของหางดงต่อปีมากกว่า 300 ล้านบาท”
สมศักดิ์กล่าวต่อว่า พืชตัวที่ 2 ที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอหางดง รองจากลำไยก็คือ อะโวคาโด มีแหล่งปลูกพื้นที่ใหญ่ที่บ้านแม่ขนิลเหนือ ต.บ้านปง ภายใต้โครงการหลวงทุ่งเริง มีพื้นที่ปลูกราว 717 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1 พันกิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตจะออกช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ตลาดมีความต้องการสูง ล่าสุดมีคนอยากได้ถึง 1 หมื่นกิโลกรัม เพื่อนำไปทำเครื่องสำอาง แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอ
โดยทางอำเภอจะเร่งส่งเสริมพัฒนาระบบการผลิตให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ กาแฟ กัญชง ไผ่ และงา ก็อยู่ในแผนที่จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอหางดง เพราะเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดสูง
เมืองที่สาม เมืองแห่งคุณธรรม เป้าหมายสำคัญ คือ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มุ่งลดปัญหายาเสพติด ลดอบายมุข สร้างความรักสามัคคีในชุมชน ซึ่งในความเป็นเมืองนั้น เศรษฐกิจจะดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างคุณธรรมควบคู่ไปด้วย
การบริหารจัดการเมืองการค้าการท่องเที่ยว-เมืองการเกษตร และเมืองแห่งคุณธรรม เป็นหมุดหมาย 3 เมืองหลักของอำเภอหางดง ที่กำลังถูกขับเคลื่อนจริงจัง เป็นมิติสำคัญที่จะทำให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่
August 15, 2020 at 08:45AM
https://ift.tt/2Fkcm4k
สมศักดิ์ คณาคำ ปั้น "อำเภอหางดง" เมืองการค้าท่องเที่ยว-เกษตร - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2VxIbuS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สมศักดิ์ คณาคำ ปั้น "อำเภอหางดง" เมืองการค้าท่องเที่ยว-เกษตร - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment