Search

ส่องโมเดล “อ่าวมะนาว” (ว่าที่) ต้นแบบท่องเที่ยวใหม่ สไตล์นิว นอร์มัล - กรุงเทพธุรกิจ

berlin-tours.blogspot.com
ส่องโมเดล “อ่าวมะนาว” (ว่าที่) ต้นแบบท่องเที่ยวใหม่ สไตล์นิว นอร์มัล

10 สิงหาคม 2563

153

แรงสั่นสะเทือนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อการท่องเที่ยวไทยต้องชะงักงันทั้งประเทศ 

แม้ปัจจุบันไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้แล้ว แต่หลายธุรกิจก็ยังไม่สามารถ “ฟื้นตัว”

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่นับตั้งแต่ต้นปีจนย่างเข้าเดือนที่ 8 ของปี 63 ทีท่าท่องเที่ยวไทยก็ยังไม่กระเตื้อง เนื่องจากไม่มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักถึง 2 ใน 3 เดินทางเข้ามา ขณะที่กลุ่มเป้าหมายในประเทศเอง ก็ยังไม่กล้าที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากนัก

ท่องเที่ยวไทย “ฟื้น” หรือ “ไม่ฟื้น” ?

ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาคบริการและการท่องเที่ยว คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้บทวิเคราะห์ต่อคำถามนี้ว่า การที่ท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยไม่ใช่คนที่มีสายป่านยาว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือรายย่อย

“ถามว่าเหมือนเดิมได้ไหม เราคงไม่มีทางเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยที่สุด มองว่าตอนนี้ควรมีกระบวนการที่ทำให้เงินหมุนเวียนอยู่บ้าง ย่อมดีกว่านิ่งทุกสิ่งอย่าง”

ผศ.ดร.เกศรา แสดงทัศนะต่อว่า ในฐานะผู้ที่สอนวิชาการท่องเที่ยว แม้ที่ผ่านมาการล็อคประเทศ อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไป แต่ก็ยอมรับว่า เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะนัก หากจะรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเช่นปกติเหมือนในอดีต

“หากเราปล่อยเข้ามาแล้วเกิดการระบาดรอบสองสถานการณ์ก็จะยิ่งหนัก ดังนั้นตอนนี้ ทางออกคือยังไงเราต้องกระตุ้นให้เกิดไทยเที่ยวไทย แม้ว่าจะมีมูลค่าแค่ 1 ใน 3 ของการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งเป็น 17% ของจีดีพี ประเทศก็ตาม”

นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวยังให้ความเห็นต่อว่าช่วงนี้คือช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญสำหรับประเทศไทย เรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและประเทศไทยควรทำเวลานี้ คือหันมาปรับตัวและปรับแนวทางการท่องเที่ยวใหม่เพื่อหาความยั่งยืนแท้จริง

มิติใหม่การท่องเที่ยวไทย

“การท่องเที่ยวไทยเป็น mass tourism มาโดยตลอด ซึ่งมันย้อนแย้งวิถีที่เราน่าจะเกิด เมื่อก่อนเรามองแต่ด้วยทฤษฎีการตลาด ด้านสังคมวิทยา ซึ่งมีแต่ความขัดแย้งกัน แต่พอมีโควิดขึ้น เราเริ่มมาคิดว่าองค์ความรู้ที่เราเคยมีอาจใช้ไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือพฤติกรรม กระบวนการและแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยว”

แนวคิดดังกล่าวจึงทำให้มีการระดมแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้รู้หลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์​ บริหารธุรกิจ สังคมวิทยา ที่ช่วยกันปรับจูนภาพฝันการท่องเที่ยวไทยมิติใหม่ ร่วมกันหาโมเดลที่ใช่ และตอบโจทย์อนาคตอย่างยั่งยืน

ซึ่งหนึ่งประเด็นที่ค้นพบเวลานี้ คือเราทุกคนต่างคนต่างกลัวกันและกันเอง ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังนั้น จะมีเครื่องมืออะไรที่สามารถช่วยยืนยันได้ว่า “ปลอดภัย” ได้

“ปลายทางอยู่ที่ Trust ระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมี 3 องค์ประกอบ คือ Security, Safety และ Hygienic” ผศ.ดร.เกศราเอ่ย

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ รัฐเรามองแต่ State Security และ Health Security  แต่สิ่งที่เรายังขาดคือ Economic Security ว่าจะเดินไปอย่างไร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันทั้งสังคม”

ผศ.ดร.เกศรา เอ่ยว่า ปัจจุบันประเทศไทยังเกิดความขัดแย้งกัน เกี่ยวกับคำถามเรื่อง Economic Security ไทยยังมุ่งเน้นแต่ State Security และ health Security

อ่าวมะนาว โมเดลทดลองเที่ยวไทยวิถีใหม่

“กองบิน 5 อ่าวมะนาวกองทัพอากาศ” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “อ่าวมะนาว” ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของคนไทย

ด้วยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไม่เกิน 300 กิโลเมตร ทั้งยังมีชายหาดสะอาดสวยงาม และกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ

ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เดิมอ่าวมะนาวต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายพันคนไปจนถึงหลักหมื่นที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละวัน แต่หลังจากวิกฤติโควิด อ่าวมะนาวปิดบริการรับนักท่องเที่ยวไประยะหนึ่ง และเพิ่งเริ่มจะมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังรัฐประกาศคลายล็อคโควิดเมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งในมุมของวิชาการ ยังเป็นโอกาสเดียวกันที่ได้ใช้พื้นที่อ่าวมะนาว ทดลองโมเดลสถานที่ท่องเที่ยวคุณภาพนำร่องแห่งแรก ภายใต้โครงการการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวเขตทหารต้นแบบเพื่อส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองบิน 5 อ่าวมะนาว กองทัพอากาศ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมมือกัน ด้วยเป้าหมายหลักคือการยกระดับอ่าวมะนาว เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงทั้งเหล้าบุหรี่ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“หลังจากมีแนวคิดเริ่มโครงการ เราได้มาเห็นพื้นที่ตรงนี้ พบว่าเป็นพื้นที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวมีคุณภาพ และยังเป็นเขตทหาร แตกต่างกับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่ไม่ได้ aware เรื่องแอลกอฮอล์หรือปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมากนัก จึงมองว่าน่าจะยกระดับได้ ก็เลยทำโครงการนี้ แต่เผอิญเป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิดพอดี” ผศ.ดร.เกศราเอ่ย

แต่เมื่อมีโควิดเกิดขึ้นมา โครงการจึงมองว่าความปลอดภัย คงไม่ใช่แค่มิติเหล้าหรือบุหรี่เท่านั้น แต่ต้องปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วย ซึ่งทางกองบินเองมีการริเริ่มจัดการด้าน physical distancing แล้ว อาทิ การมีมาตรการจำกัดจำนวนคนที่เข้ามา ซึ่งในเชิงทฤษฎีการท่องเที่ยวถือเป็นแนวทางที่ดีของการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับ (carrying  capacity)

ด้าน นาวาอากาศเอกชยศว์ สวรรค์สรรค์ ผู้บังคับการกองบิน 5  กล่าวว่า  เดิมกองบิน 5 ให้ความสำคัญถึงปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้า บุหรี่ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางสุขภาพและสังคม และยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงได้ดำเนินโครงการการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวเขตทหารต้นแบบเพื่อส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่  อาทิ การห้ามจำหน่ายเหล้า บุหรี่ ภายในพื้นที่อาคาร โรงแรมที่พักทั้งหมด ยกเว้นการบริการในมินิบาร์ และพื้นที่เขาล้อมหมวก และจะมีการรณรงค์ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ชายหาด สนามกอล์ฟ โดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ในด้านมาตรการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว อ่าวมะนาวเริ่มตั้งแต่การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังอ่าวมะนาว โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจองที่พักได้วันละไม่เกิน 500 คน และนักท่องเที่ยวที่มาแบบไป-กลับไม่เกิน 1,200 คน ซึ่งใช้วิธีการรับบัตรเข้ามา เมื่อเต็มแล้วจะหยุดแจกทำให้อย่างไรนักท่องเที่ยวก็ไม่เกิน 1,700 คน ทุกคนต้องสแกนแอปลิเคชันไทยชนะ มีการจัดเตียงผ้าใบให้มีระยะห่าง ส่วนนักท่องเที่ยวขอความร่วมมือให้ใส่ผ้าปิดปาก รวมถึงสวมหมวกกันนิรภัยทุกคน

“ที่นี่เราไม่ได้ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เราก็ยังปฏิบัติตามกฎหมายเช่นอายุ 18 และคอยดูดื่มจนหมดสติเราต้องคอยดู เราตั้งด่าน ตามกฎหมายเราไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แค่ตักเตือนและให้พักผ่อน”

สำหรับการดำเนินโครงการในเฟสแรก มุ่งเน้นให้ความรู้แก่กำลังพลทั้งหมดในเรื่องประเด็นเหล้าและบุหรี่ต่าง ๆ ชี้แนะว่ากฎหมายเป็นอย่างไร เนื่องจากในฐานะผู้ให้บริการ ยังจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง ผ่านกิจกรรมอบรม พัฒนาสมรรถนะและความรู้เรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ในความดูแลของกองบิน 5 อ่าวมะนาว ให้แก่บุคลากร ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชา กำลังพล ข้าราชการ รวมถึงครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นพ่อค้าแม่ค้าผู้ให้บริการในอ่าวมะนาวนั่นเอง มารับความรู้จากทีมวิทยากร

“การได้อบรมความรู้ทำให้บุคลากรในพื้นที่ทราบว่ายังมีปัจจัยด้านสุขภาพหลายอย่างที่เขาไม่รู้ และนำมาปรับใช้ในการให้บริการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์ กองบิน 5 จึงได้นำโครงการนี้ไปประชาสัมพันธ์ในที่ประชุมกองทัพอากาศเพื่อขยายผลต่อไป” นาวาอากาศเอกชยศว์ กล่าว

ต้นแบบพื้นที่ลดปัจจัยเสี่ยง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ร่วมบอกเล่าถึงเหตุผล ที่แม้จะอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ก็ยังจำเป็นต้องรณรงค์เรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบว่า หากมองในแง่สุขภาพ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อโควิด การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยข้อมูลวิชาการยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติสูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสป่วยหนักกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า

“นอกจากนี้ งานที่เราดำเนินการมีหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้มาตรการควบคุมพื้นที่จำหน่ายและพื้นที่บริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบ การผลักดันกระตุ้นให้เจ้าของพื้นที่ร้านค้าต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมาย”

ที่ผ่านมา สสส.จึงมีทั้งต้นแบบการจัดงานเทศกาลปลอดแอลกอฮอล์ที่สำเร็จมาแล้ว การมีหน่วยงานท้องถิ่นเครือข่ายต้นแบบที่รณรงค์ในระดับพื้นที่ และสำหรับอ่าวมะนาว จะเป็นต้นแบบของหน่วยราชการที่มีแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ

“พื้นที่กองบิน 5 มีสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวม อาทิ มีพื้นที่ออกกำลังกาย แล้วยังมีกฎให้สวมหมวกกันน็อค จัดการรถควันดำและลดการสูบในพื้นที่สาธารณะ และที่นี่ยังเป็นเป็นพื้นที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวมีคุณภาพ มีการให้ร้านค้าปฏิบัติตามกฎอย่าเคร่งครัด รวมถึงการดูแลผู้ดื่ม หยุดเสิร์ฟ หยุดขายเมื่อเมา เราจึงมองว่าที่นี่คือต้นแบบสำหรับร้านค้าหรือพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.เกศรา ทิ้งท้ายว่าหากโมเดลอ่าวมะนาวสำเร็จ เราจะได้เห็นโมเดลพื้นที่ท่องเที่ยววิถีใหม่ที่มีครบ 3 องค์ประกอบ คือ Security, Safety และ Hygienic เกิดขึ้นที่นี่

“ถ้าโมเดลนี้เกิดขึ้นได้ ทำให้เกิด trust ระหว่างกัน ไม่เพียงรัฐจะตอบปัญหาสังคมได้ในประเด็นของ Economic Security แต่ยังตอบได้ในหลายเรื่อง เช่น เรื่อง bubble travel ก็อาจแทบไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีก็เป็นได้”




August 10, 2020 at 10:18AM
https://ift.tt/2PDs64p

ส่องโมเดล “อ่าวมะนาว” (ว่าที่) ต้นแบบท่องเที่ยวใหม่ สไตล์นิว นอร์มัล - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/2VxIbuS


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ส่องโมเดล “อ่าวมะนาว” (ว่าที่) ต้นแบบท่องเที่ยวใหม่ สไตล์นิว นอร์มัล - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.